การเจริญสติปัฏฐาน ๔
๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
คือ การพิจารณาร่างกายว่าเป็นของไม่สวยไม่งาม และมีการเสื่อมสลายไปอยู่ตลอดเวลา ถ้าปฏิบัตินานๆวัน พอง ยุบ อาจหายไป จิตไม่รับรู้พอง ไม่รับรู้ยุบ เช่นนี้ให้จิตไปสัมผัสที่หัวใจ แล้วภาวนาว่า “รู้ – หนอ” “รู้ – หนอ” ตลอดเวลา ถ้าถามว่า “รู้ – หนอ” นั้นรู้อะไร? ตอบว่า รู้ว่า พอง ยุบ ไม่มี จิตไม่รับรู้ พองก็ดี ยุบก็ดี เป็น “รูป” จิต (สิ่งที่รับรู้) เป็น “นาม” เมื่อ พอง ยุบ หายไป แสดงว่า “นาม” ไม่รับรู้ “รูป” แยกรูปแยกนามออกจากกันได้ ตั้งแต่เรายังไม่ตาย
พอง ยุบ เกิดขึ้น เรารู้
พอง ยุบ ยังมีอยู่ เรารู้
พอง ยุบ หายไป เรารู้
เช่นนี้ เรียกว่า เรามีสติรู้เห็น “กายในกาย” ซึ่งตรงกับภาษาบาลีว่า “กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน” ความจริง พอง ยุบ ยังมีอยู่ แต่จิตไม่รับรู้ พอง ยุบ เมื่อ พอง ยุบ หายไป จัดเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา เขาเข้ามาแสดง ๓ ประการ :-
๑. แสดงว่า จิตเสพสมาธิสูงมาก
๒. แสดงว่าจิตกำลังเดิน ญาณ อันเป็นสภาวธรรม ของวิปัสสนาญาณ
๓. แสดงให้เราเกิดปัญญาเห็นไตรลักษณ์ของพระพุทธเจ้า (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)
เมื่อจิตเสพสมาธิสูง จิตก็ไม่เสพอย่างอื่น แม้แต่ท้องพองหรือท้องยุบ จิตกับวัตถุก็มีลักษณะเหมือนกัน ตามหลักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า “สิ่งสองสิ่งในเวลาเดียวกัน จะอยู่ที่เดียวกันไม่ได้” ตัวอย่างเช่น ในห้องน้ำเล็กๆ เรามีตุ่มน้ำพอดีกับห้องน้ำ มีเพื่อนนำตุ่มน้ำขนาดเดียวกันมาให้ เราจะนำตุ่มใหม่นั้นใส่ในห้องน้ำไม่ได้ ถ้าจะใส่ให้ได้ ต้องยกตุ่มเก่าออกก่อนจึงจะใส่ตุ่มใหม่ได้ เพราะว่า “สิ่งสองสิ่งในเวลาเดียวกันจะอยู่ที่เดียวกันไม่ได้”
จิตเรานี้เหมือนกัน เมื่อจิตเสพสมาธิแล้วจิตไม่เสพอย่างอื่น แม้แต่ท้องพองท้องยุบ จิตก็ไม่รับรู้ ท้องพองและท้องยุบ ยังมีอยู่ตามเดิม แต่มันละเอียดมาก
เมื่อจิตกำลังร้องไห้ ในเวลาเดียวกันนั้นจิตจะหัวเราะไม่ได้ หรือ จิตกำลังหัวเราะอยู่ในเวลาเดียวกันจิตนั้นจะร้องไห้ไม่ได้ มันคนละวาระจิตกัน จะเกิดขึ้นพร้อมๆกันไม่ได้ จิตกับวัตถุ จึงเหมือนกันฉันใดก็ฉันนั้น
๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
คือการพิจารณา ถึงสิ่งที่พอใจสิ่งที่ไม่พอใจ ทั้งสิ่งที่สุขและทุกข์ ให้รู้ทันปัจจุบัน นั่งสมาธิ ๕ นาที อาจไม่เกิดเวทนา แต่ถ้านั่งนานๆ ๓๐ นาที หรือ ๑ ชั่วโมง จะเกิดเวทนาขึ้น เช่นปวดก้นกบ ปวดเอว ปวดหัวเข่า ปวดก้านคอ ปวดศรีษะ เป็นต้น
จะทำอย่างไร? ท่านให้เอาจิตจากหน้าท้อง มาสัมผัสที่เวทนา แล้วภาวนาตามอาการของเวทนา เฃ่น “ปวดหัวเข่า” ให้เอาจิตจากหน้าท้องมาสัมผัสที่หัวเข่า แล้วภาวนา “ปวดหนอ” ภาวนาตลอดเวลาจนกว่าความปวดจะหายไปต่อหน้า
ความปวดเกิดขึ้น เรารู้
ความปวดยังมีอยู่ เรารู้
ความปวดหายไปแล้ว เรารู้
เช่นนี้เรามีสติรู้ “เวทนาในเวทนา” ซึ่งตรงกับภาษาบาลีว่า “เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน” (จิตคิดอะไรให้กำหนดอย่างนั้นว่าคิดหนอๆ จนความคิดหยุดคิด) เมื่อความปวดหายไปแล้ว ให้นำจิตไปสัมผัสหน้าท้องแล้วภาวนา “พอง – หนอ” “ยุบ – หนอ” ต่อไปใหม่
๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
นั่งนานๆ ไม่มีเวทนา แต่บางครั้งจิตเกิดฟุ้งซ่าน ท่านให้นำจิตจากหน้าท้องไปสัมผัสที่หัวใจ แล้วภาวนาในใจว่า “ฟุ้งซ่าน – หนอ” ภาวนาตลอดจนกว่าจิตจะหายฟุ้งซ่าน
จิตฟุ้งซ่าน เรารู้
จิตกำลังฟุ้งซ่าน เรารู้
จิตสงบไม่มีฟุ้งซ่านแล้ว เรารู้
เช่นนี้ เรามีสติรู้ "จิตในจิต" ซึ่งตรงกับภาษาบาลีว่า “จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน” (จิตคิดอะไรให้กำหนดอย่างนั้นว่า คิดหนอๆ จนความคิดหยุด) เมื่อจิตหายฟุ้งซ่านแล้ว ให้จิตไปสัมผัสที่หน้าท้อง แล้วภาวนา “พอง – หนอ” “ยุบ – หนอ” ต่อไปใหม่
๔. ธรรมนุปัสสนาสติปัฏฐาน
นั่งนานบางทีไม่มีเวทนาและไม่มีฟุ้งซ่าน แต่เกิดธรรมารมณ์ เช่น
ตาเห็น รูป เกิด รูปารมณ์
หูได้ยิน เสียง เกิด สัมธารมณ์
จมูกได้ กลิ่น เกิด คันธารมณ์
ลิ้นลิ้ม รส เกิด รสารมณ์
กาย สัมผัส เกิด โผฏฐัพพารมณ์
ใจกระทบ ธรรม เกิด ธรรมารมณ์
ให้นำจิตไปสัมผัสตามอาการ แล้วภาวนาตามอาการที่เกิดขึ้น เช่น ตาเห็นรูปนิมิต (ขณะนั่งหลับตาก็เห็นรูปนิมิตภายในได้ จัดเป็นรูปารมณ์) ให้นำจิตจากหน้าท้องมาสัมผัสที่ตา แล้วภาวนาว่า “เห็น – หนอ” ภาวนาตลอดเวลา จนกว่ารูปารมณ์จะหายไป
ตาเห็นรูปนิมิต เรารู้
ตายังเห็นรูปนิมิตมีอยู่ เรารู้
ตาไม่เห็นรูปนิมิตแล้ว เรารู้
รูปนิมิต เป็นธรรมารมณ์ เกิดทางตา
ธรรมารมณ์ เกิดขึ้น เรารู้
ธรรมารมณ์ ยังมีอยู่ เรารู้
ธรรมารมณ์ หายไปแล้ว เรารู้
เรียกว่าเรามีสติรู้ "ธรรมในธรรม" ซึ่งตรงตามภาษาบาลีว่า “ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน” เมื่อรูปนิมิตหายไปแล้ว ให้จิตมาสัมผัสที่หน้าท้องแล้วภาวนา “พอง – หนอ” ต่อไปใหม่