การนั่งเจริญวิปัสสนาสมาธิ
เมื่อเดินครบกำหนดเวลาแล้ว ให้เดินช้าๆ มาหยุดบนผ้าปูนั่งแล้วภาวนาในใจว่า “ยืน – หนอ” ๆ (๕ ครั้ง) “อยากนั่ง – หนอ” ๆ (๕ ครั้ง) “นั่ง – หนอ” ๆ (๕ ครั้ง) แล้วค่อยๆ หย่อนตัวลงช้าๆ ปล่อยมือทั้งสองออก เมื่อมือถูกพื้นให้ภาวนาในใจว่า “ถูกหนอ” เมื่อก้นถูกพื้น ให้ภาวนาในใจว่า “ถูก – หนอ” จนกว่าจะนั่งสมาธิเรียบร้อย
ให้นั่งหลับตา ตั้งตัวตรงตามแบบพระพุทธรูป ให้เท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ในลักษณะแบมือ เลื่อนมือให้หัวแม่มือทั้งสองชนกันเบาๆ ให้กำหนดจิตสัมผัสที่หน้าท้องระหว่างสะดือกับลิ้นปี่ เมื่อหายใจเข้าท้องจะพอง เมื่อหายใจออกท้องจะยุบ เมื่อไม่รู้สึกพอง ไม่รู้สึกยุบ ให้ท่านยกมือขวามาจับดู จนรู้สึกว่ามีพองจริง มียุบจริง เมื่อหายใจเข้าท้องพองให้ภาวนาว่า “พอง” เมื่อพองไปจนสุดพอง ให้ภาวนาว่า “หนอ” เมื่อหายใจออกท้องยุบให้ภาวนาว่า “ยุบ” เมื่อท้องยุบไปจนสุดยุบ ให้ภาวนาว่า “หนอ” การนั่งสมาธิ จึงภาวนาในใจว่า “พอง – หนอ” “ยุบ – หนอ” ตลอดเวลา อย่าหยุดภาวนา ให้ภาวนาไปจนครบเวลาที่กำหนดหรือตามที่อาจารย์สั่ง ข้อสำคัญต้องนั่งให้ได้ปัจจุบันอารมณ์กับท้องพองและท้องยุบ เมื่อท้อง “พอง” ต้องภาวนาว่า “พอง” ทันที เมื่อสุด “พอง” ให้ภาวนา “หนอ” ทันที ให้เป็นปัจจุบันอารมณ์ จิตจึงจะเสพสมาธิ (เป็นสมาธิ) ถ้าท้องพองไปนานแล้ว เพิ่งภาวนาว่า “พอง” ต่อภายหลังเช่นนี้ เป็นอดีตอารมณ์ หรือท้องยังไม่ทันพอง ท่านภาวนา “พอง” ล่วงน้าไปก่อน เช่นนี้เป็ฯอนาคตอารมณ์ เมื่อเป็นอดีตอารมณ์ หรืออนาคตเป็นอารมณ์ จิตไม่เสพสมาธิ ต้องภาวนาจริงๆ ต้องภาวนาให้เป็นปัจจุบันอารมณ์จริงๆ และต้องให้จิตสัมผัสอยู่หน้าท้องจริงๆ ครบ ๓ จังหวะ จริงนี้จิตเสพสมาธิ แม้ท่านจะปฏิบัติเพียง ๕ นาที จิตก็เสพสมาธิ (เป็นสมาธิ)