เบื้องหลังเมื่อครั้งริเริ่มก่อตั้ง ”ธรรมสถานวิมลธรรม”
ในปี พ.ศ.๒๕๔๔ เป็นช่วงที่พระครูปลัดวีระนนท์ วีรนนฺโท ได้รับนิมนต์ให้มาเป็นพระวิปัสสนาจารย์และพระวิทยากร ประจำศูนย์วิปัสสนาเคลื่อนที่แห่งประเทศไทย วัดสุวรรณประสิทธิ์ เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ซึ่งท่านได้ปฏิบัติภารกิจ ทั้งภายในวัดและ นอกสถานที่ ได้แก่ โรงเรียน หน่วยงานราชการ และศูนย์วิปัสสนากรรมฐานต่างๆ ตามที่ได้ รับนิมนต์ไว้อย่างต่อเนื่อง ต่อมาพระครูปลัดได้ไปขอกราบลาท่านเจ้าอาวาส เพื่อไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยการศาสนา มหาวิทยาลัยมหิดล ตำบล.ศาลายา อำเภอ.พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และจะขอไปพำนักอยู่ที่สำนักปฏิบัติธรรมใกล้ๆมหาวิทยาลัย ซึ่งท่านยังคงช่วยท่านเจ้าอาวาสปฏิบัติงานด้านการศึกษาเป็นพระวิปัสสนาจารย์ และพระวิทยากรจัดอบรมค่ายพุทธบุตร และกิจกรรมต่างๆ ของทางวัดสุวรรณประสิทธิ์ต่อไปอีกอย่างต่อเนื่อง
ในระหว่างเวลานั้น มีอาจารย์ผู้ใจดีท่านหนึ่งมาสนทนาธรรม และแนะนำว่าตนเองมีที่ดินซึ่งเหมาะแก่การสร้างเป็นสถานที่พำนักสงฆ์และเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมตั้งอยู่ที่บริเวณใกล้กับหมู่บ้านเกษียณเกษตร คลอง๑๑ ตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ซึ่งอยู่ห่างจากถนนคลอง ๑๑ สายกลาง ไปประมาณ ๘๐๐ เมตรจะเป็นที่ดินว่างเปล่า
ที่ดินผืนนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรม “ธรรมสถานวิมลธรรม” อันมีนิยามศัพท์หมายถึง แหล่งธรรมอันบริสุทธิ์จนกระทั่งพัฒนามาเป็นวัดป่าเจริญราชในปัจจุบันนี้
พลิกฟื้นผืนดินเสื่อมโทรมเป็นแหล่งธรรมะอันบริสุทธิ์
จุดมุ่งหมายของโครงการพัฒนาที่ดินผืนแรก เนื้อที่ ๒ ไร่
เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อครูบาอาจารย์ผู้มีภูมิธรรมคุณูปการอันสูงส่ง และเป็นสถานที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ที่มีความสัปปายะ คงความเป็นธรรมชาติให้มากที่สุด และมีการก่อสร้างเสนาสนะเท่าที่จำเป็น แบบเรียบง่ายและประหยัด มีการบริหารงานแบบค่อยเป็นค่อยไป
การริเริ่มก่อตั้งธรรมสถานวิมลธรรม
ประมาณกลางปี พ.ศ.๒๕๔๔ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาที่ดิน แปลงริเริ่มเนื้อที่ ๒ ไร่ ตั้งอยู่ในโครงการสวนเกษตรเกษียณเกษตร ตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี นำโดยพระครูปลัดวีระนนท์ วีรนนฺโท (พระอาจารย์มหาวีระนนท์) ขณะนั้นสังกัดอยู่ที่วัดธาตุ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด และได้มาช่วยปฏิบัติงานเป็นพระวิทยากรและ พระวิปัสสนาจารย์ ประจำศูนย์วิปัสสนาเคลื่อนที่แห่งประเทศไทย วัดสุวรรณประสิทธิ์ อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร และกำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี หลักสูตรศิลปศาสตร์ สาขา ศาสนศึกษา วิทยาลัยการศาสนา มหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
ในวันแรกของการเดินทางจากกรุงเทพฯเข้าไปปักกลดเพื่อพัฒนาพื้นที่ ๒ ไร่นั้น ได้มีพระภิกษุ ร่วมติดตามไปด้วย ๒ รูป คือ ๑. พระเสงี่ยม โอวาทกาโม ๒.พระสิริ เขมปญฺโญ ร่วมด้วยฆราวาสอีกกลุ่มหนึ่ง ได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ พร้อมด้วยสัมภาระ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ครบครัน สำหรับทำการแผ้วถางป่า ซึ่งเป็นดงกระถิน ปกคลุมถนนและหญ้าคาที่ปกคลุมพื้นที่ ที่ถูกทิ้งร้างให้เป็นแหล่งเสื่อมโทรมมานานหลายปี ที่ดินแปลงดังกล่าว ตั้งอยู่ห่างถนนใหญ่ (คลอง๑๑ สายกลางลำลูกกา) ระยะทาง ๘๐๐ เมตร สภาพถนนเป็นดินลูกรัง เป็นหลุมเป็นบ่อ รถยนต์ไม่สามารถผ่านได้ และเมื่อได้ถางป่าจนสามารถเดินเท้าเข้าไปสู่พื้นที่ได้แล้ว ทุกคนยังคงทำงานต่อเนื่องจนกระทั่งเวลาเย็น ประกอบกับในเวลานั้นยังไม่มีไฟฟ้าใช้จึงรีบเดินทางกลับกรุงเทพฯเพื่อปฏิบัติภารกิจและปฏิบัติศาสนกิจ ในกรุงเทพฯ โดยท่านได้เดินทางไปสอนพระภิกษุสงฆ์ใน กรุงเทพฯและเป็นวิทยากรโครงการค่ายพุทธบุตรในกรงเทพ และยังต้องเตรียมตัวเดินทางไปเรียนที่มหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม อีกด้วย
ส่วนพระภิกษุ ๒ รูปที่ติดตามท่านมาได้ปักกลดค้างแรมประจำอยู่ในที่นั้น เพื่อช่วยดูแลการพัฒนาสถานที่ในระยะเริ่มต้น ในระหว่างนั้น ท่านจะเข้ามาในธรรมสถานทุก วันหยุดเสาร์ -อาทิตย์ หรือเมื่อสามารถที่จะจัดสรรเวลาเข้ามาปฏิบัติงานที่อำเภอลำลูกกาได้ก็จะมาร่วมพัฒนา ธรรมสถานวิมลธรรมอย่างสม่ำเสมอมิได้ขาด
ในเวลาต่อมาเมื่อได้มีการว่าจ้างนำรถแทรกเตอร์เข้ามาขุดปรับพื้นที่สวนเกษตรเดิมซึ่งเป็นร่องสวน ร่องน้ำ และสระน้ำใหญ่ ล้อมรอบด้วยคันดินขนาดประมาณ ๓ เมตรทั้ง ๓ ด้าน เพื่อให้เป็นไปตามแผนผังที่กำหนดไว้ โดยถมดินบริเวณตรงกลางให้เต็มผืน ส่วนด้านข้างทั้ง ๓ ด้านยังคงร่องน้ำ เชื่อมติดต่อถึงกัน ไปยังสระน้ำใหญ่ด้านหน้าซึ่งติดกับถนนซอย ส่วนด้านข้างทั้ง ๓ ด้านเสริมคันดินให้กว้างขึ้น
ต่อมามีพระภิกษุ และสามเณรติดตามเข้ามาสมทบ ดังนี้ ๑.พระประทวน ปิยธมฺโม ๒. พระธงชัย สิริปัญโญ ๓. พระมหาประทวน ปัญญาวโร ๔.พระวัลลา นราสโภ และสามเณรอีก ๒ รูป ได้แก่ ๑.สามเณรสมพงษ์ เนตรแสงศรี ๒.สามเณรยงยุทธ
การดำเนินงานการก่อสร้างเสนาสนะและสภาพความเป็นอยู่ในขณะนั้นเต็มไปด้วยความยากลำบาก มีปัญหาอุปสรรคอยู่บ้างแต่ก็ได้รับการแก้ไขไปตามสถานการณ์เฉพาะหน้าเป็นคราวๆไป และด้วยมีเวลาอันจำกัดเพียงแค่ในช่วงวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ ซึ่งหลวงพ่อ จะต้องเดินทางไกลจากมหาวิทยาลัยมหิดล หรือวัดสุวรรณประสิทธิ์ เพื่อมาปฏิบัติงานที่ธรรมสถานวิมลธรรม จะต้องเสียเวลาในการเดินทางมาก แต่เมื่อถึงคราวปิดภาคการศึกษา ท่านก็จะเข้ามาพำนักและประกอบกิจทางพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งดูแลการก่อสร้างในธรรมสถาน อย่างใกล้ชิด ต่อมาได้มีคณะผู้มีจิตศรัทธานำผ้าป่าสามัคคีมาทอดถวายธรรมสถานวิมลธรรม เพื่อขุดเจาะน้ำบาดาล
การสร้างสิมน้ำ (อุทกเสมา) เป็นศาลาคอนกรีตขนาดเล็กเพื่อทดแทนแคร่ไม้ไผ่ลอยน้ำ ซึ่งท่านได้สร้างเลียนแบบของหลวงปู่มั่น แต่เมื่อญาติโยมมาเห็นเข้าเกรงว่าจะผุง่าย ไม่คงทน จึงได้บริจาคปัจจัยเป็นค่าก่อสร้างใหม่ทั้งหลังและควบคุมดูแลการก่อสร้างจนเสร็จเรียบร้อยและใช้ประโยชน์เป็นสถานที่ทำสังฆกรรมของพระภิกษุ สามเณรและปฏิบัติกิจทางพระพุทธศาสนา
ศิษยานุศิษย์ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาและเคารพนับถือในพระครูปลัดวีระนนท์ วีรนนฺโท ตลอดจนศรัทธาสาธุชนทั้งหลายได้ร่วมกันบริจาคปัจจัยวัสดุก่อสร้าง สิ่งของเครื่องใช้จำเป็นต่อการอุปโภค บริโภค และอุปกรณ์สำนักงาน ต่อมาได้มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคบ้านไม้ใต้ถุนสูงหลังเก่า และของใช้ทั้งหมดของโรงเจที่เลิกกิจการแล้ว จาก จ.ฉะเชิงเทรา ตลอดจนญาติโยมอุปัฏฐากซึ่งทำงานประจำเป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และพนักงานบริษัทเอกชนและนักธุรกิจเจ้าของบริษัท ครูบาอาจารย์และผู้ปกครอง ฯลฯ และชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง, ในหมู่บ้านโครงการเกษียณเกษตร ได้ร่วมแรงร่วมใจกันให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลสนับสนุนการดำเนินงานของธรรมสถานเป็นอย่างดี และช่วยอำนวยความสะดวกตามอัตภาพซึ่งมีผลทำให้การดำเนินงานของธรรมสถานวิมลธรรม มีความก้าวหน้าไปในระดับหนึ่ง
คณะพระภิกษุสงฆ์ผู้ร่วมบุกเบิกพัฒนาพื้นที่แปลงริเริ่มเนื้อที่ ๒ ไร่ กลางปี พ.ศ.๒๕๔๔
วัตถุประสงค์การก่อตั้ง “ธรรมสถานวิมลธรรม” ดังนี้
๑. เพื่อเป็นสถานที่ฝึกฝนปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานของประชาชนผู้สนใจทั่วไปที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา
๒. เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยการจัดทำสื่อธรรมะก่อสร้างวัตถุ ปูชนียวัตถุ ปูชนียสถาน เป็นต้น
๓. เพื่อเป็นสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมวิถีพุทธที่สำคัญ และกิจกรรมประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ ของชาติ เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันพ่อแห่งชาติ วันแม่แห่งชาติ วันสงกรานต์ เป็นต้น
๔. เพื่อเป็นสถานฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐานแก่เยาวชน นักเรียน นักศึกษาทุกสถาบันในการที่จะปลูกฝังคุณธรรม ศีลธรรมและจริยธรรม
๕. เพื่อให้เป็นสถานที่ ที่ผู้ปกครอง ประชาชนทั่วไป และข้าราชการหน่วยงานต่างๆ ได้สนทนาธรรม ศึกษาธรรมะ
๖. เพื่อเป็นที่สำนักสงฆ์อาพาธ ที่มาจากต่างจังหวัดเพื่อเข้ารับการรักษาอาการเจ็บป่วยในโรงพยาบาลที่กรุงเทพฯ โดยมีที่พักชั่วคราวในระหว่างรอผลการตรวจ หรือรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ
๗. เพื่อเป็นสถานที่อีกที่หนึ่งที่มีป่าธรรมชาติ โดยมีการปลูกต้นไม้ใหญ่ๆ นานาพันธุ์ เพื่อเพิ่มอากาศอันบริสุทธิ์ ช่วยลดภาวะโลกร้อน และยังเป็นสวนป่าธรรมชาติ เป็นลานธรรม สำหรับพระภิกษุผู้มีความปรารถนาจะปฏิบัติธรรมในป่าธรรมชาติ
๘. เพื่อปลูกป่าสมุนไพรนำมารักษาโรคให้แก่ผู้เจ็บป่วยจากโรคต่างๆ ที่ร้ายแรง หรือไม่ร้ายแรงก็ตาม ซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์ในการรักษา
ศาลาเอนกประสงค์
กุฏิสงฆ์เดี่ยวมุงแฝก
กุฏิสงฆ์เดี่ยวมีระเบียง
ห้องครัว ห้องน้ำ
กุฏิสงฆ์เดี่ยวมุงแฝก
กุฏิสงฆ์รวม, ที่พำนักเจ้าสำนัก, สำนักงาน และที่เก็บวัสดุ
บริเวณที่สร้างศาลาปฏิบัติธรรมชั่วคราวมุงแฝกหลังแรก
พระมหากรุณาธิคุณ
เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๔ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ พร้อมด้วยพระสหาย เสด็จธรรมสถานวิมลธรรม เป็นการส่วนพระองค์ ทรงทอดผ้าป่า เพื่อสมทบทุนในการปรับปรุงศาลาปฏิบัติธรรม ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
การบริหารงานและการจัดตั้งมูลนิธิวิมลธรรม
ประมาณกลางปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเป็น มูลนิธิวิมลธรรม และได้รับอนุญาตจัดตั้งเลขอนุญาตที่ ต. ๗๓/๒๕๔๕ เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ ลงนามอนุญาต โดย เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ มีที่ตั้งสำนักงาน ณ เลขที่ ๑๒/๑๙ หมู่ที่ ๒ คลอง ๑๑ ตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี
วัตถุประสงค์ในการตั้ง “มูลนิธิวิมลธรรม” ดังนี้
- ส่งเสริมสนับสนุนเผยแผ่คำสอนพระพุทธศาสนา
- ส่งเสริมสนับสนุนการจัดโครงการอบรมปฏิบัติธรรม องค์กร หน่วยงาน สถาบันการศึกษา และผู้สนใจทั่วไป ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
- สนับสนุนทุนในการบำรุงพระภิกษุสงฆ์ สามเณร และบุคลากรของมูลนิธิ โดยอุปการะด้วยปัจจัยสี่ คือ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่พักอาศัย และยารักษาโรค
- สนับสนุนการจัดทำสื่อต่างๆ เช่น เอกสาร จุลสาร สิ่งพิมพ์ หนังสือ เทป หรือ ซีดีรอม เกี่ยวกับพุทธศาสนาออกเผยแผ่
- ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองและศาสนาอื่นแต่อย่างใด
- สนับสนุนทุนช่วยเหลือ เกื้อกูลแก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม
- ดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์
มูลนิธิวิมลธรรมได้ดำเนินกิจกรรม และเปิดประชุมคณะกรรมการ เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ วันดังกล่าวจึงถูกกำหนดให้เป็นวันจัดประชุมสมัยสามัญประจำปีของมูลนิธิ นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ปีพุทธศักราช ๒๕๔๕ การพำนักอยู่ของพระภิกษุและสามเณร ณ ธรรมสถานแห่งนี้ ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง โดยเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ในขณะนั้น โดยอ้างถึงหนังสือคำสั่งเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ที่ ๗/๒๕๔๕ เรื่องอนุญาตให้พำนักปฏิบัติธรรมที่มูลนิธิวิมลธรรม ลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๕