
ฉะนั้นการเกิดดับของขันธ์ห้า ขันธ์ห้าเกิดทุกครั้ง หูได้ยินเสียงเกิดขันธ์ห้าแล้ว ได้ยินเสียง เสียงเป็นรูป อ้าวเมื่อกี้บอกสิ่งที่เห็นได้เป็นรูป อย่าลืมว่าสิ่งที่สัมผัสได้ เสียงเป็นรูป ใจที่ไปรู้ว่าเสียงนั้นเป็นนาม เป็นรูปกับนามแล้ว เสียงพอใจไม่พอใจเป็นสุขเป็นทุกข์เป็นเวทนา ฟังเสียงแล้วเกิดจิตนาการ มโนภาพขึ้น เสียงนี้หน้าตาคงหล่อ เสียงนี้หน้าตาคงแก่นั่นปรุงแต่งทางจิตใจ เสียงนี้เสียงพระพูดเออ คือจำได้ คือสัญญา มันเกิดครั้งเดียวปุ๊บเดียวเลย ลัดมือเดียว เรียกว่าช้างกระพือหู งูแลบลิ้น ไก่กระพือปีก แป๊บเดียวหรือฟ้าแลบแผ๊บ ขันธ์ห้าเกิดดับปรากฏตอนไหน ปรากฏตอนกระทบ ปั้งเข้าไป ที่ไหน ยินหนอ เสียงหนอ นั่น แต่ทำไมเราไม่ปรากฏ ก็เพราะเราไม่ปรากฏ มันไม่รู้ ฉะนั้นต้องตามดู ตามรู้ ตามเห็น จดจ่อต่อเนื่องเป็นเส้นด้าย ก็จะเห็นการเกิดขึ้นของขันธ์ห้า เห็น การดับไปของขันธ์ห้า เห็นการตั้งอยู่ของขันธ์ห้า เมื่อวานนี้อาตมาว่า อุปาทะ ฐีติ ภังคะ เบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด เห็นอย่างนี้ชื่อว่าเห็นการเกิดดับ เห็นการเกิดการดับของขันธ์ห้า มันดับไปตอนไหน เสียงเกิดขึ้น เกิดขึ้นแล้วดับไปตอนไหน ถ้าจิตเราไว สติมันไว ก็สามารถจับได้ทันอย่างเราภาวนา พองหนอยุบหนอๆ พองเกิดขึ้น พองตั้งอยู่ พองดับไป ยุบเกิดขึ้น ยุบตั้งอยู่ ยุบดับไป พร้อมกับใจแล้วก็คำบริกรรมภาวนาเกิดดับๆ ต่อเนื่องกัน แต่ถ้าเราเป็นเพียงผู้ดู ผู้รู้ ผู้เห็น เราก็จะเห็นการเกิดและการตั้งอยู่ และการดับไป แต่ถ้าเราเป็นผู้พองผู้ยุบมันก็ไม่เห็น ฉะนั้นจึงบอกให้ดูที่พอง ที่ยุบ หรือโยมที่ดูลม ดูลมไป เข้าไป ดูต้นลม กลางลม ปลายลม เห็นการเกิดขึ้นของลม เห็นการตั้งอยู่ของลมเห็นการดำเนินไปของลม และสุดท้ายของลม นั่นคือการเห็นการเกิดดับ แต่ยังไม่ถึงขั้นการเกิดดับของรูปนามขันธ์ห้าที่ปรากฏให้ชัดเจน ฉะนั้นผู้ปฏิบัติต้องมีจิตใจจดจ่อต่อเนื่อง อย่าเผลอสติ รูปเป็น กัมมชรูป ที่เราได้เกิดมา รูปที่เกิดแต่กรรม กรรมที่มาจัดการ กรรมที่มาจำแนกให้แต่ละคนเกิดมา มีอาการสามสิบสองประการเหมือนกัน แต่ก็มีสิ่งที่ไม่เหมือนกันวิทยาศาสตร์เขาก็ว่าพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอไม่เหมือนกัน แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่ากรรม กรรมเป็นสิ่งที่ไม่เหมือนกัน แต่คล้ายกัน ลักษณะที่คล้ายกันมีอยู่สามลักษณะ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดมาทั้งโลก ตกอยู่ในภาวะสามอย่าง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ฉะนั้นภาวะ กัมมชรูป รูปที่เกิดแต่กรรมตกแต่งให้มา ภาวะตรงนี้ที่มีความแตกต่างกัน เกิดมาในตระกูลเดียวกันเกิดมาจากท้องแม่เดียวกันแต่ภาวะจิตใจต่างกัน เพราะอะไร เพราะภาวะทางกรรมที่ติดตามเรามาตั้งแต่อดีตชาติ แล้วก็มาสู่ปัจจุบันชาตินี้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน ภาวะกรรมความประพฤติวิธีคิดก็แตกต่างกันไป ฉะนั้นการปฏิบัติกรรมฐานอาตมาได้กล่าวว่าพูดไว้แล้วว่าปฏิบัติวิธีใดวิธีหนึ่งให้ได้จริงๆ แล้ววิธีอื่นง่ายได้หมดไม่ยาก แต่ถ้าปฏิบัติไม่ได้สักอย่าง มันก็ยากทุกอย่างและก็ไม่ได้สักอย่าง โอวาทธรรม พระครูปทุมภาวนาจารย์ (หลวงพ่อวีระนนท์ วีรนนฺโท) จากหนังสือ “หัวใจของกรรมฐาน” หน้า ๙๕ – ๙๖ สนใจอ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.watpacharoenrat.org/home/medial.php?prid=17