โครงการ สายธารน้ำใจจากวัดป่าฯสู่ชาวดอย

ประวัติและที่มาของโครงการ

ด้วยพระเดชพระคุณพระครูปทุมภาวนาจารย์ วิ.(หลวงพ่อวีระนนท์ วีรนนฺโท) เจ้าอาวาสวัดป่าเจริญราช ในช่วงที่ได้บวชเรียนใหม่ๆ ท่านได้เดินทางไปแสวงหาโมกขธรรม ธุดงค์ไปตามพื้นที่ป่าเขา บนดอยตามภาคต่างๆของประเทศไทย รวมไปถึงในประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย นอกจากได้เจริญสมณธรรมอย่างเต็มที่แล้ว ท่านยังได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวเขา และทำให้ท่านได้ทราบถึงความยากลำบาก ในการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ ในพื้นที่เหล่านั้น ได้เป็นอย่างดี ในช่วงนั้น ท่านได้รับการดูแลอุปัฏฐาก ใส่บาตร ถวายภัตตาหารจากชาวบ้านในพื้นที่มาโดยตลอด ซึ่งเอื้อต่อการเจริญสมณธรรมของท่าน หรือในยามที่ท่านเจ็บป่วย หรือได้รับพิษภัยจากสัตว์ร้ายในป่า ท่านยังได้รับ การช่วยเหลือรักษา ดูแลอุปัฏฐากจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณป่าเขานั้นอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ท่านได้ตระหนักถึง กุศลผลบุญ คุณงามความดีของชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง ท่านจึงตั้งปณิธานไว้ว่า ถ้ามีโอกาสเมื่อใด ท่านจะกลับไปช่วยเหลือชาวเขาเหล่านั้น ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และจะนำธรรมะไปให้ ไว้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้น ได้รับและเข้าถึงความสุขอย่างแท้จริง 

ดังนั้น พระเดชพระคุณหลวงพ่อ ท่านจึงได้เมตตา เปิดโอกาสให้กับคณะศิษยานุศิษย์ชาววัดป่าฯ และผู้ที่มีจิตศรัทธา ได้ร่วมแรง ร่วมใจกันบริจาค สิ่งของ เครื่องใช้ที่จำเป็นต่างๆ ให้กับนักเรียน ชาวบ้านในพื้นที่ และพระภิกษุสงฆ์ ที่อยู่ห่างไกล ในถิ่นทุรกันดาร เป็นประจำทุกๆปี  ในช่วงเดือนมกราคม ถึง กุมภาพันธ์ ระยะเวลารวมการเดินทางแล้ว ประมาณ 4 วัน  ซึ่งหมู่บ้านต่างๆที่ไปบริจาค จะไม่ซ้ำกันในแต่ละปี  ทั้งนี้หลวงพ่อท่าน ได้เมตตาให้คณะทำงาน เดินทางไปสำรวจยังพื้นที่ต่างๆ ที่อยู่ห่างไกล และมีความยากลำบาก ที่คนส่วนใหญ่ยังเข้าไปไม่ถึง และต้องการความช่วยเหลือในด้านต่างๆอย่างแท้จริง ทั้งอาหาร ยารักษาโรค อุปกรณ์การเรียน เครื่องกีฬา เสื้อผ้า เครื่องนุ่มห่ม ชุดพลังงานโซล่าเซล  เครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ ศาลาอเนกประสงค์ ศาลาสวดมนต์วิหารทาน สำหรับไว้ใช้ประโยชน์ส่วนรวม นอกจากนี้ยังมีห้องน้ำส่วนตัว ไว้ใช้ในแต่ละครัวเรือน รวมถึงอุปกรณ์ท่อส่งน้ำ แท็งก์น้ำ เพื่อใช้ลำเลียงและกักเก็บน้ำ ไว้ใช้อุปโภคและบริโภค เพื่อบรรเทาความยากลำบาก ในยามขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง เป็นต้น 

ด้วยความต้องการช่วยเหลือ บรรเทาความทุกข์ยากลำบาก และต้องการนำธรรมะลงสู่ใจ ให้กับพี่น้องชาวเขาดังกล่าวนั้น จึงเป็นที่มาของ “โครงการสายธารน้ำใจจากวัดป่าฯ สู่ชาวดอย” นี้  โดยพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ได้เมตตาเป็นประธานโครงการฯ คอยให้คำแนะนำ ปรึกษา และเป็นกำลังใจให้กับคณะทำงาน  พระคุณเจ้า และผู้ร่วมเดินทาง  อีกทั้งยังเมตตาร่วมเดินทางไปกับคณะฯ เพื่อแจกจ่ายสิ่งของให้กับพี่น้องในพื้นที่ด้วยทุกครั้ง

วัตถุประสงค์

  • เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากลำบากของชาวเขาที่อยู่ห่างไกล ในถิ่นทุรกันดาร    
  • เพื่อสร้างความเข้าใจ กระชับความสัมพันธ์และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ระหว่างชาวเขากับชาวเมือง 
  • เพื่อสร้างความรักและความสามัคคีของศิษยานุศิษย์วัดป่าเจริญราช 
  • เพื่อตอบแทนน้ำใจและความดีของพี่น้องชาวเขา ที่คอยให้ความช่วยเหลือ ใส่บาตร และคอยดูแลอุปถาก แด่พระเดชพระคุณหลวงพ่อและพระคุณเจ้า ในสมัยเมื่อครั้งท่านได้ออกธุดงค์ตามพื้นที่ป่าแถบนี้ ในการประพฤติปฏิบัติธรรม แสวงหาหนทางหลุดพ้น เพื่อบรรลุธรรม ตามอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า                                
  • เพื่อเผยแผ่ธรรมะของพระพุทธองค์ ให้ลงสู่ใจของพี่น้องชาวดอย อันเป็นการช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนา 
  • (ในอนาคต) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ความรู้ ส่งเสริมพัฒนาอาชีพให้กับชาวเขา จนสามารถพึ่งพาตนเองได้ จนกระทั่ง ลด ละ เลิก การทำการเกษตรแบบไร่เลื่อนลอย ซึ่งเป็นการดำเนินรอยตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง  ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช มหาราช ของปวงชนชาวไทย  และยังเป็นส่วนหนึ่ง ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่า อันเป็นการอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร รวมถึงป้องกัน บรรเทาปัญหาอุทกภัย และช่วยลดภาวะโลกร้อน     
     

เป้าหมาย

  • คณะจากวัดป่าเจริญราชเดินทางไปถึงพื้นที่เป้าหมายอย่างปลอดภัย เพื่อนำสิ่งของที่จำเป็น และให้ ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ให้กับชาวเขาที่อยู่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดาร ที่ยังขาดแคลน และยังไม่มีใครเข้าถึงพื้นที่ ให้ได้รับความช่วยเหลือ จนสามารถบรรเทาความทุกข์ยากลำบาก ได้ตรงความต้องการ อย่างเพียงพอ
  • ส่งเสริมให้ชาวเขามีธรรมะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ
  • (ในอนาคต)จะส่งเสริมชาวเขา ให้มีการพัฒนาอาชีพ จนสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีสำนึกรักบ้านเกิด รู้รักษ์ผืนป่าและต้นน้ำลำธาร       

พื้นที่ดำเนินงาน

หมู่บ้านหรือชุมนุมชนต่างๆ ที่ยากจนและขาดแคลนสิ่งของจำเป็นเพื่อการยังชีพ ที่อาศัยอยู่บนภูเขาสูง ซึ่งอยู่ห่างไกล ในถิ่นทุรกันดาร ที่ยังไม่มีใครเข้าถึงพื้นที่ ในจังหวัด แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย หรือตามจังหวัดต่างๆ ที่มีชาวบ้านอาศัยอยู่

การดำเนินการ

 

หลังจากกำหนดเป้าหมายในการช่วยเหลือ แจกจ่ายสิ่งของให้กับพี่น้องในพื้นที่แล้ว หลวงพ่อท่านจะเมตตาให้คำปรึกษาถึงแนวทางแก่คณะทำงาน ในการสำรวจ เพื่อให้ทราบถึงปัญหา รวมถึงความต้องการต่างๆ ในแต่ละหมู่บ้านว่า มีกี่ครอบครัว,ต้องการสิ่งใด,จำนวนเท่าไร ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ยังขาดแคลนเครื่องอุปโภค บริโภค เช่น แท็งก์น้ำ ท่อประปาส่งน้ำ ห้องน้ำ ศาลาอเนกประสงค์  ศาลาสวดมนต์วิหารทาน ชุดพลังงานโซล่าเซล ยาสามัญประจำบ้าน เครื่องเรียน เครื่องเขียน เสื้อผ้า ชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียนการสอน เครื่องกีฬา ถุงมือ ถุงเท้า รองเท้า ปลาทูเค็ม ขนม ของเล่น ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อทางวัดป่าฯจะได้ จัดเตรียมจัดหา เพื่อส่งมอบให้กับแต่ละหมู่บ้าน ให้ตรงกับความต้องการได้อย่างเพียงพอ โดยคณะผู้จัดงานได้ประสานงานกับผู้แทนชาวบ้าน และได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชน ทั้งพระคุณเจ้า และผู้นำในหมู่บ้าน รวมถึงสมาชิกของหมู่บ้านเป็นอย่างดี ทำให้การดำเนินงานในการแจกจ่ายสิ่งของในทุกครั้ง ดำเนินการได้ด้วยความสะดวก และราบรื่นมากยิ่งขึ้น ในหลายๆพื้นที่ ที่ทางคณะได้เดินทางไปนั้น ทางหมู่บ้านเป็นผู้ริเริ่มเสนอโครงการและดำเนินการเอง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแท็งก์กักเก็บน้ำ การทำระบบประปาภูเขา  การสร้างส้วมให้ถูกสุขลักษณะ  และยังมีการสร้างศาลาอเนกประสงค์ ฯลฯ ทั้งนี้ทางวัดป่าฯ เป็นผู้สนับสนุนด้านปัจจัยทั้งหมด ส่วนทางหมู่บ้านนำโดยผู้นำชุมชน เป็นผู้จัดหาอุปกรณ์ต่างๆ ทำการวางแผนและดำเนินการก่อสร้างร่วมกันกับสมาชิกในหมู่บ้าน 
 

หลังจากคณะทำงานได้สำรวจยังหมู่บ้านต่างๆแล้ว ทางวัดป่าฯ จึงได้จัดเตรียมสิ่งของต่างๆ โดยการประชาสัมพันธ์บอกบุญ ทางสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ เช่น ทางเว็บไซน์ของวัดป่าฯ และมีผู้มีจิตศรัทธา ร่วมกันบริจาคและเป็นเจ้าภาพ จัดหาสิ่งของต่างๆที่จะนำไปบริจาคอย่างท่วมท้นอีกด้วย ต่อจากนั้น จึงได้กำหนดวันเดินทาง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นช่วงเดือนมกราคม หรือ กุมภาพันธ์ ระยะเวลา รวมการเดินทางทั้งสิ้น ประมาณ 4 วันด้วยกัน 

บรรยากาศก่อนการเดินทาง

ก่อนวันเดิน ทางคณะทำงานและคณะเดินทางยังได้ประชุมร่วมกัน โดยได้รับความเมตตาจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อมาเป็นประธานในการประชุม เพื่อเตรียมความพร้อมในการเดินทาง ก่อนวันเดินทาง 1 วัน คณะจิตอาสาวัดป่าฯ ต่างช่วยกันลำเลียงสิ่งของ ขึ้นรถบรรทุกใหญ่ ที่จะเดินทางล่วงหน้าไปก่อน  ซึ่งกว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้น นับเป็นเวลาหลายวัน  ซึ่งต้องอาศัยความเสียสละ ทั้งกำลังกาย กำลังใจ กำลังทรัพย์ และเวลา ของทั้งเจ้าภาพและคณะจิตอาสาวัดป่าฯทุกๆท่าน ที่มาร่วมแรงร่วมใจกัน ในการจัดเตรียม คัดแยกและลำเลียง ขนถ่ายสิ่งของอีกด้วย นับว่าเป็นสายธารน้ำใจ จากวัดป่าฯ ที่หลั่งไหลมา อย่างท่วมท้นจริงๆ    
 

บรรยากาศในการเดินทาง

เริ่มออกเดินทางกันจากวัดป่าเจริญราช โดยเดินทางกันเป็นขบวนคาราวาน และแวะพักระหว่างทาง ตามจุดให้บริการน้ำมันต่างๆ เพื่อพักผ่อน รับประทานอาหาร และเติมน้ำมัน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางต่อไป เมื่อถึงยังจุดนัดพบ ก่อนที่จะเดินทางขึ้นดอยไปบริจาคสิ่งของ จึงได้พักผ่อนกัน หลังจากนั้นต่างช่วยกันขนถ่าย และคัดแยกสิ่งของที่จะไปแจกตามหมู่บ้านต่างๆ จากรถบรรทุกใหญ่ ลงสู่รถของชาวเขา ซึ่งเป็นรถกระบะขับเคลื่อน 4 ล้อ ทั้งนี้เนื่องจากแต่ละหมู่บ้านนั้นอยู่ห่างไกล  และหนทางระหว่างทางที่จะไปแจกของนั้นยากลำบากมาก  ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นภูเขาสูง ถนนเป็นดินลูกรังหรือดินดำ และมีการเทคอนกรีตบ้างบนทางลาดชัน สองข้างทางเป็นป่าเขาและถนนค่อนข้างแคบ ทั้งขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อและสูงชัน ซึ่งต้องใช้รถที่มีสภาพดีและมีพละกำลังสูงในการขับเคลื่อน และยังต้องใช้วิทยุสื่อสารบอกทางกัน ระหว่างการเดินทางอีกด้วย นอกจากนี้ยังต้องอาศัยความระมัดระวังในการขับขี่  เป็นพิเศษ ดังนั้นรถบรรทุกใหญ่จึงไม่สามารถขับขึ้นไปบริจาคสิ่งของบนดอยได้   

 

อีกทั้งเพื่อความสะดวก ในการแจกจ่ายสิ่งของให้กับแต่ละหมู่บ้าน ได้ตรงตามจำนวนและอย่างถูกต้อง  จึงต้องช่วยกัน คัดแยก และขนถ่ายสิ่งของจากรถบรรทุกใหญ่ ลงสู่รถกระบะคันเล็กของชาวเขา ซึ่งแม้ว่าแต่ละคนจะอิดโรย และเหนื่อยล้า เนื่องจากการเดินทางที่ยาวนาน และการพักผ่อนเพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่ทุกคนต่างช่วยกันอย่างขะมักเขม้น ด้วยความสุขที่ได้ช่วยเหลือกัน เพื่อให้งานนั้นสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ระหว่างการเดินทาง จากสภาพถนนหนทางที่ยากลำบากนั้น มีบางครั้งที่ผู้ร่วมเดินทางได้ขับรถตกถนนบ้าง หรือไม่สามารถขับขึ้นบนทางลาดชันได้ แต่ได้รับความช่วยเหลือจากพี่น้องชาวเขา และการร่วมแรงร่วมใจของผู้ร่วมเดินทางทุกๆคน จึงสามารถผ่านพ้นเหตุการณ์เหล่านี้ไปได้ด้วยดี

 

สภาพของหมู่บ้าน

 

หมู่บ้านต่างๆ แต่ละหมู่บ้านนั้น มีสภาพยากจน ทั้งยังขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานต่างๆ  อยู่อีกมาก เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ตามไหล่เขาและหุบเขาต่างๆ  บ้านแต่ละหลังนั้น สร้างแบบเรียบง่าย โดยใช้วัสดุในท้องถิ่น เช่น ไม้และไม้ไผ่ เป็นต้น และมีจำนวนผู้อยู่อาศัยไม่มาก และในหลายๆแห่ง ยังไม่มีห้องน้ำใช้ จนกระทั่งได้รับความช่วยเหลือจากทางคณะวัดป่าฯในโครงการนี้ ระหว่างหมู่บ้านมีเส้นทางที่ใช้ในการเดินทางเชื่อมต่อกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นถนนดินลูกรัง และเดินทาง ยากลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝน นอกจากนี้ ในบางหมู่บ้านยังมีการใช้น้ำประปาภูเขา และมีการใช้  แผงโซ่ล่าเซลอยู่บ้าง แต่หมู่บ้านโดยส่วนใหญ่ที่ทางคณะได้เดินทางมานั้น ยังขาดโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว
 

มีสถานศึกษา คือ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ซึ่งให้บริการด้านการศึกษา และพัฒนาชุมชนแก่ผู้ใหญ่ในเวลากลางคืน และสอนเด็กตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที 6 ในเวลากลางวัน ซึ่งตั้งอยู่บนไหล่เขา ที่โอบล้อมไปด้วยทิวเขา มีบรรยากาศที่สวยงาม  มีห้องเรียนเล็กๆ ที่สามารถใช้เป็นห้องนอนสำหรับเด็กๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีโรงครัว ห้องน้ำ ห้องเรียนตามวิชาต่างๆ และมีลานกิจกรรมอยู่ตรงกลาง มีโรงเลี้ยงสัตว์เล็กๆ มีพื้นที่แปลงเกษตรสำหรับปลูกพืชผัก และในบางที่นั้น  มีสำนักสงฆ์อยู่บริเวณเขาด้านบนของหมู่บ้านอีกด้วย
 

 

เรื่องโดย อัญญา