วิปัสสนาชีวิต

ท่านจะมัวนิ่งเฉยอยู่ใยเล่า ลงมือปฏิบัติวิปัสสนาสมาธิกันเถิด เพื่อประโยชน์ทั้ง 3 คือ ประโยชน์ชาตินี้ประโยชน์ชาติหน้าและประโยชน์อย่างยิ่ง คือพระนิพพาน
กรรมฐาน
กรรมฐาน หรือกัมมัฏฐาน มี 2 อย่าง คือ
1.สมถกรรมฐาน คือ กรรมฐานที่ทำให้ใจสงบง่าย
2.วิปัสสนากรรมฐาน คือ กรรมฐานที่ทำให้เกิดปัญญา
กรรมฐานทั้ง 2 อย่างนี้ ต้องอิงอาศัยซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพิจารณาสภาวธรรรมต่างๆ ในการปฎิบัติวิปัสสนากรรมฐานขั้นสูง ต้องอาศัยสมถกรรมฐานเป็นพื้นฐาน เป็นพลังในการเจริญปัญญา
การปฏิบัติเพื่อให้สมาธิตั้งมั่นได้เร็วและง่าย
-
ต้องมีองค์ภาวนา เช่น พองหนอ- ยุบหนอ พุทโธ หรือ สัมมาอะระหัง เป็นต้น เสียก่อน ตัวอย่างเช่น การภาวนา “พุทโธ”
-
ขั้นแรก สติของเราต้องอยู่ที่คำว่า “พุทโธ” โดยเอาสติมาจับอยู่ที่ปลายจมูก ให้รู้ตรงที่ลมกระทบเวลาหายใจเข้าและหายใจออกอย่างชัดเจนและละเอียด
-
ขั้นที่สอง คือ การตามลมเข้า ตามลมออก โดยการภาวนา “พุท” เวลาหายใจเข้า และ “โธ” เวลาหายใจออก ให้เอาจิตไปจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจเข้าออกตลอดเวลา โดยไม่ใส่ใจกับสิ่งที่มากระทบจากภายนอก หรือ ภายใน จิตจึงจะเป็นสมาธิได้เร็ว
ต่อจากนั้นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ถ้ามุ่งไปทาง ฌานหรือฌาณสมาบัติ ก็ให้ภาวนาพุทโธ อย่างต่อเนื่องตลอดไป พร้อมกำหนดจิตลงสู่สภาวธรรมที่กำลังเกิด ที่กำลังเห็นในขณะนั้น ขณะที่จิตดิ่งลงสู่องค์ฌาน ก็มีสติรู้ และปล่อยลงไปตามองค์ฌาน เพื่อให้เป็นไปตามธรรมชาติของพลังอำนาจสมาธิ จนกว่าจะไม่มีความรู้สึกทางกาย ว่าร่างกายเรามีอยู่ เราจะเห็นแต่ดวงจิตเป็นอย่างเดียว ไม่มีอารมณ์อื่นแทรก นี้เรียกว่า “องค์ฌาน”
-
-
วิธีการยกจิตขึ้นสู่องค์ฌาน ให้ผู้ปฏิบัติกำหนดรู้เสมอว่าขณะนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ (กล่าวคือ อยู่ในสมาธิ) เพื่อไม่ให้จิตสัดส่ายออกไปข้างนอก ถ้าจิตสัดส่ายออกไปข้างนอกเมื่อใด ให้กำหนดภาวนาอย่างมีสติ โดยค่อยๆ ดึงจิตมาดูที่ฐานของจิต คือที่หัวใจ ที่เรียกว่า “หทัยวัตถุ” แล้วกำหนดองค์บริกรรมต่อไปว่า “พุทโธ พุทโธ” หรือ คำบริกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างรวดเร็วและถี่ โดยไม่เว้นให้มีช่องว่าง เพื่อป้องกันไม่ให้มีความคิดอื่นมาแทรก
และขณะที่ผู้ปฏิบัติกำลังจะออกจากองค์ฌานใดองค์ฌานหนึ่งเมื่อกำหนดได้แล้ว ให้กำหนดจิตจำสภาวะของขณะจิตนั้นว่าอยู่ในอาการใด แล้ว จึงค่อยผ่อนลมหายใจยาวออกมาเบาๆ พร้อมกับถอยจิตออกจากองค์ฌานนั้นๆ และให้จำสภาวะนั้นให้ได้
กล่าวคือ เมื่อผู้ปฏิบัติจะเข้าสู่สมาธิในบัลลังก์ต่อไป ให้กำหนดลมหายใจยาวๆ ทั้งเข้าและออกพร้อมกับน้อมจิตเข้าสู่องค์ฌานที่ออกมาในครั้งก่อน นี้เรียกว่า การต่อองค์ฌาน หรือ ต่อสภาวฌาน
-
การยกจิตขึ้นสู่สภาวฌาณหรือฌาน ผู้ปฏิบัติจะต้องอาศัยพื้นฐานของสมถะเป็นกำลัง เพื่อนำไปพิจารณาสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขณะนั้นให้ได้อย่างต่อเนื่อง แจ่มแจ้ง ชัดเจน หากสมาธิอ่อน ผู้ปฏิบัติจะไม่สามารถอดทนต่อสภาวะของเวทนาได้ การพิจารณาสภาวธรรมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทุกขเวทนา หรือสุขเวทนาจะต้องอาศัยสมาธิที่ตั้งมั่นเป็นองค์ฌานมาเป็นกำลังอย่างมาก นอกจากนี้ในการเข้าไปพิจารณาอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น กับฐานต่างๆ ที่กระทบ ที่บีบคั้น ทั้งสภาวะภายนอกและภายใน จะต้องอาศัยองค์ฌานเป็นพื้นฐาน เป็นกำลังของจิต เพื่อเข้าไปพิจารณาสภาวธรรมทั้งหลายทั้งปวงในขณะนั้นๆ
-
การภาวนาในการที่จะให้เกิดสมาธิอย่างรวดเร็ว และมีสภาวะที่ชัดเจน แจ่มแจ้ง ผู้ปฏิบัติจะต้องมีสมาธิที่ตั้งมั่น แน่วแน่เป็น “เอกัคคตารมณ์” (เป็นอารมณ์เดียว) ไม่หวั่นไหวต่อสภาวะเล็กๆ น้อยๆ ตัวอย่างเช่น ในการภาวนา “พองหนอ-ยุบหนอ” ผู้ปฏิบัติจะต้องกำหนดรู้ และมีความรู้สึกที่อาการพอง และอาการยุบของท้องเพียงอย่างเดียว โดยไม่เผลอสติ ต้องมีความรู้ที่ชัดเจนเหมือนกับการนั่งดูทีวี หรือ นั่งมองดูนกบินในท้องฟ้า หรือ มองดูคนป่วยหายใจระรัวๆ อยู่บนเตียงพยาบาล ให้เห็นภาพชัดเจน คือ เห็นอาการที่ท้องพอง ท้องยุบ อย่างแน่ชัดเสียก่อน อย่าไปใส่ใจกับสภาวะอารมณ์เล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นภายในจิต หรือที่มากระทบจากภายนอก
ถ้าหากผู้ปฏิบัติไปใส่ใจกำหนดตามสภาวะที่กระทบ หรือ สิ่งที่มากระทบ และสิ่งที่เกิดขึ้นภายในจิต อารมณ์ กรรมฐานของเรา ก็จะรั่ว และไหลไปตามสภาวะเล็กๆ น้อยๆ นั้น ทำให้ไม่เกิดสมาธิที่ตั้งมั่นไม่มีพลังของสติที่จะไปกำหนด ทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดความท้อแท้เหนื่อยหน่ายต่อการปฏิบัติ ทั้งนี้เป็นเพราะผู้ปฏิบัติไม่เข้าใจชัดเจนในองค์ภาวนา หรือฐานที่จิตไปกำหนดดู จึงทำให้หลายต่อหลายคนไม่สามารถปฏิบัติได้ และเบื่อหน่ายต่อการปฏิบัติ และบอกว่าไม่ได้อะไรเลย บางครั้งก็กล่าวว่า ตนเองไม่มีบุญ หรือ มีบุญน้อย นี้คือความเข้าใจผิดของผู้ปฏิบัติ หากท่านใดอยากปฏิบัติกรรมฐานไม่ว่าจะเป็นสมถะหรือวิปัสสนา ก็ต้องอาศัยฐานที่ตั้งเป็นจุดยืนให้ได้เสียก่อน
ดังนั้นไม่ว่าจะภาวนาอะไร จะต้องทำเช่นนี้เสมอ จิตจึงจะเกิดสมาธิ เมื่อสมาธิตั้งมั่น มีจุดยืน และรู้ฐานของการปฏิบัติดีแล้วเราก็จะสามารถกำหนด พิจารณาไปตามสภาวะได้อย่างง่ายดาย เปรียบเหมือนลมพัดต้นอ้อ และพอลมหยุดพัด ต้นอ้อก็ตั้งตรงขึ้นมา ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อพลังสมาธิมั่นคงแล้ว สภาวะที่มากระทบกระทั่งจากภายนอกและภายใน จิตก็ไม่หวั่นไหว สามารถกำหนดพิจารณาได้ รู้เท่าทันได้ ต่อสภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้น และเมื่อเรากำหนดตามฐานต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบายเวลามีอารมณ์มากระทบ สภาวธรรมและฌาน ก็เกิดขึ้นได้ง่ายในระยะเวลาอันสั้น เหมือนกับท่านพระโกญทัญญะที่มีจุดยืนตั้งมั่นดีแล้ว ก็กำหนดรู้สภาวะตามที่เกิดขึ้นได้ ได้รู้และได้เห็นอย่างแจ่มแจ้ง พิจารณาจนเกิดปัญญา สามารถยกฐานะตนเองเป็นอริยะบุคคลได้โดยง่าย
ทำไมถึงต้องมีองค์ภาวนา เพราะองค์ภาวนามีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการปฏิบัติ อุปมา เหมือนดังเรือที่วิ่งอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ถ้ามีเฉพาะเรือแต่ไม่มีคนขับ เรือก็ไม่สามารถที่จะวิ่งไปถึงจุดหมายปลายทางได้ สติที่กำหนดองค์ภาวนาก็เปรียบเสมือนคนจับห้างเสือ หรือ เหมือนกับรถที่จำเป็นจะต้องมีคนขับที่รู้จักทางรู้จักวิธีขับรถให้เดินทางไปถึงเส้นชัยให้ได้ แต่ถ้าไม่มีคนขับจับพวงมาลัยที่เข้าใจที่เก่งก็ไม่สามารถที่จะไปถึงเส้นชัยได้เลย รถหรือเรือก็จะออกนอกเส้นทางหรือเดินทางไปได้ไม่ไกลก็จะเกิดปัญหาขึ้นภายหลัง การปฏิบัติที่จะให้ได้ผลดีร้อยเปอร์เซ็นนั้นผู้ปฏิบัติจะต้องมี วิริยะ มีสติ มีสมาธิ มีความอดทนและมีปัญญารู้เท่าทันตามความเป็นจริง ที่เรียกว่า รู้อริยะสัจสี่ รู้ตามความเป็นจริง ในปัจจุบันอารมณ์นั้นๆ
-
การกำหนดจิตขึ้นสู่วิปัสสนา เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว จะต้องกำหนดภาวนาตามฐานที่กระทบ เช่น
ตา เห็นรูป กำหนดที่ตาว่า “เห็นหนอ” โดยกำหนดที่กระทบ
หู ได้ยินเสียง กำหนดที่หูว่า “ยินหนอ”
จมูก ได้กลิ่น กำหนดที่จมูกว่า “กลิ่นหนอ”
ลิ้น รู้รส กำหนดที่ลิ้นว่า “รู้หนอ” คือ รู้รส เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ต่างๆ
กาย สัมผัส กำหนดว่า “รู้หนอ” คือ รู้สัมผัส เย็น ร้อน อ่อนแข็ง
ใจ กำหนดว่า “รู้หนอ” รู้ว่าปรุงแต่งหรือไม่ปรุงแต่ง กำหนดที่ต้นจิต คือ ที่หัวใจ
นี่คือขั้นตอนของการกำหนดวิปัสสนากรรมฐาน คือ กำหนดตามฐานที่กระทบ หรือฐานที่เกิดโดยตรงปัจจุบันขณะทันที พอกำหนดได้ทัน หรือรู้เท่าทันต่อสภาวะอาการที่มากระทบทั้งภายในและภายนอก ผู้ปฏิบัติต้องมีสติระลึกรู้อยู่เสมอ โดยไม่เผลอ นี้คือการกำหนดฐานที่เกิดของจิต หรือวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งมีอยู่ ๔ ฐานใหญ่ๆ คือ การกำหนดที่กาย กำหนดที่เวทนา กำหนดที่จิต และกำหนดที่ธรรมารมณ์ เช่น พอใจ ไม่พอใจ ชอบ ไม่ชอบ เป็นต้น
ขณะที่ภาวนา หรือ ปฏิบัติอยู่ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ก็ให้มีสติรู้อยู่ตลอด นี้ เรียกว่า เจริญสติปัฏฐาน ๔ โดยไม่ให้จิตออกนอกตัว จึงจะทำให้เกิดปัญญาวิปัสสนา หรือวิปัสสนาภูมิ
ก้าวย่างแรกที่ยากยิ่ง |
ทุกสิ่งช่างสับสน |